Home
>
Fulbright Stories
คุยกับ Fulbrighter: รณกฤษฎิ์ รัตนศรีอำไพพงศ์

Thai Graduate Scholarship Program หรือ TGS เป็นหนึ่งในทุนฟุลไบรท์ที่มีความหลากหลาย เปิดโอกาสให้ใครหลายคนได้ทำตามฝันของตัวเอง วันนี้เรามาทำความรู้จักรณกฤษฎิ์ รัตนศรีอำไพพงศ์ หรือ พี่แบงก์ 2018 TGS กัน พี่แบงก์เป็นคนหนึ่งที่มีใจรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่เด็กแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบอย่างจริงจังจนได้รับทุนฟุลไบรท์ไปเรียนต่อด้านสมุทรศาสตร์ (Oceanography) ที่ Texas A&M University ตอนนี้พี่แบงก์กำลังทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับclimate change ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยสนใจหรือไม่เชื่อว่าจริงๆ แล้ว climate change ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ด้วย เพราะบางครั้งมนุษย์จะละเลยสิ่งที่ผิด เนื่องจากยึดผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก  แต่ก่อนหน้านี้พี่แบงก์ทำงานบริษัทน้ำมันซึ่งดูจะคนละเรื่องกับตอนนี้เลย

จุดพลิกผันของชีวิต

พี่แบงก์เป็นคนชอบธรรมชาติชอบดูสารคดีมาแต่เด็ก จึงเลือกเรียนสาขาธรณีวิทยาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอจบมาก็ได้ไปทำงานที่บริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง

“บริษัทน้ำมันตอนนั้นเป็นความฝันของเด็กจบใหม่หลายคน ได้ทำงานดี ๆได้มีความก้าวหน้าในอาชีพ ได้เจอคนเก่ง ๆ”

ระหว่างทำงานพี่แบงก์ก็ได้รับทุนไปเรียนปริญญาโทสาขาธรณีศาสตร์หลักสูตรนานาชาติที่จุฬาฯ ซึ่งมีแต่ข้อดี จนลืมคิดถึงข้อเสียว่าสิ่งที่ทำอยู่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมพอทำงานไปสัก 5 ปีพี่แบงก์ก็ถึงจุดอิ่มตัวบวกกับปี 2015 เกิดวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำบริษัทต้องเอาคนออก 30% เพื่อความอยู่รอดจึงประกาศให้ทุกคนลาออกแล้วยื่นใบสมัครใหม่หมด

“นี่เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้มีเวลามานั่งคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มันส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมนะ” พี่แบงก์สรุป

วิกฤติครั้งนั้นทำให้พี่แบงก์ปลุกไฟในตัวให้ลุกขึ้นทำตามฝันคืออยากทำวิจัย หรือทำบางสิ่งที่ช่วยธรรมชาติได้บ้างไม่มากก็น้อย พี่แบงก์จึงตัดสินใจไม่สมัครกลับเข้าไปทำงานใหม่แต่หาช่องทางเรียนต่อ ก็ได้ไปเจอกับทุน TGS จนได้ไปเรียนที่อเมริกาในสาขาสมุทรศาสตร์

 

สมุทรศาสตร์ (Oceanography) กับงานวิจัยด้านสมุทรศาสตร์บรรพกาล (Paleoceanography)

หลายคนคงสงสัยว่าสมุทรศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไรบางคนก็เพิ่งจะเคยได้ยินชื่อสาขานี้เป็นครั้งแรก บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเลจริง ๆ แล้วสาขานี้เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับทะเล ฟิสิกส์ ชีวะ เคมี รวมไปถึงธรณีวิทยาเป็นการศึกษาภาพกว้างของกระบวนการในทะเล เช่น คลื่นเกิดยังไง การกระจายตัวของเคมีความสัมพันธ์ทางชีวภาพและเคมี และมหาสมุทรมีผลต่อโลกยังไง เพื่อหาเหตุผลไปแก้ไขสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับทะเล

“ถึงสมุทรศาสตร์และธรณีวิทยาจะมีความเชื่อมโยงกันอยู่บ้างแต่ก็ต่างกันเยอะในแง่ที่ธรณีวิทยาศึกษาโฟกัสไปที่หิน หินอะไร เกิดขึ้นยังไงใช้หินเป็นเครื่องมือเป็นหลักในการศึกษา แต่สมุทรศาสตร์ใช้อย่างอื่นได้ ไม่ใช่แค่ตะกอนหินอย่างเดียวเช่นสิ่งมีชีวิต คลื่น ทิศทางกระแสน้ำ ประมาณนี้”

ไม่ใช่แค่ทฤษฎีแต่มีความตื่นเต้น

ความน่าตื่นเต้นหนึ่งของสาขานี้คือการได้มีโอกาสไปออกเรือขนาดเล็กเพื่องานวิจัยและการวิเคราะห์ทางเคมีได้เก็บตะกอนหรือได้ออกเรือขนาดใหญ่ไปขุดเจาะที่มีความลึกมาก

“ตอนพี่ไปสมัครครั้งแรกก็ได้เลยแต่ตอนนี้ยังติดปัญหาเกี่ยวรัฐบาลก็เลยยังไม่ได้ไปการไปสมัครเราต้องเขียนจุดประสงค์ว่าเราต้องเจาะลึกแค่ไหน เจาะทำไม ผลลัพธ์ที่ได้เป็นยังไงต้องไปนำเสนอ The International Ocean Discovery Program (IODP) ว่าคุ้มค่าลงทุนไหม”

พี่แบงก์เล่าถึงโครงการวิจัยหนึ่งซึ่งเปิดโอกาสให้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากหลายประเทศโดยแต่ละประเทศก็มีโควตาที่จำกัด ค่อนข้างแข่งขันกัน ถ้าสมัครผ่านเว็บไซต์จะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาค้ำประกันหรือ letter of recommendation ซึ่งหลัก ๆ คือต้องสอดคล้องกับ research objective ของการออกเรือครั้งนั้น ๆ โดยผู้ร่วมเรือจะได้โอกาสทำวิจัยก่อนส่วนนักวิจัยทั่วไปที่ไม่ได้ร่วมเดินเรือก็สามารถเข้าถึงตะกอนได้แต่ต้องรอประมาณหนึ่งปีสำหรับการวิจัยในสายนี้ การค้นพบอะไรเร็ว ๆ จะส่งผลดีต่องานวิจัยมาก

ชีวิตนักเรียนในTexas

พี่แบงก์ไปเรียนที่รัฐTexas หรือที่โน่นเรียกกันว่า Southern State ซึ่งจะออกแนวทางใต้บ้านเราผู้คนเป็นมิตร เข้าถึงง่าย มีน้ำใจ  และเขาก็จะมีความภูมิใจในการเป็นคนTexas อาหารก็จะจานใหญ่หน่อย ซึ่งพี่แบงก์ต้องปรับตัวพอสมควรเพราะเป็นคนรักษาสุขภาพไม่ค่อยกิน fast food หรือของทอดเยอะ เน้นกินผักเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะอยากลดการกินเนื้อเพื่อช่วยเรื่องclimate change และที่ต้องปรับตัวมากอีกอย่างคือต้องทำอาหารกินเองเพราะการไปกินข้างนอกแพงมากแล้วยังมีทิปอีกอย่างน้อย 15% ของราคา ไม่งั้นจะถือว่าเสียมารยาทพี่แบงก์เสริมว่าแต่ละโต๊ะจะมีบริกรประจำตัวคนเดียว ห้ามเรียกคนอื่นเพราะจะเสียมารยาทเหมือนกัน

งานอดิเรกที่พี่แบงก์ทำบ่อยคือการออกไปวิ่งข้างนอกส่วนตัวแล้วพี่แบงก์เป็นนักวิ่งระยะไกล อยู่ที่โน่นก็มีชมรมวิ่งที่ไปด้วยกันประจำได้ไปเห็นที่สวย ๆ แล้วก็ไปเปิดโลกด้วย แต่ในช่วงโควิดพี่แบงก์บอกว่าแทบจะไม่ได้ออกไปไหนเลยแต่ก็มีนัด virtual meeting กับนักเรียนวิทย์ในอเมริกาทุกอาทิตย์ทำให้ได้เจอคนใหม่ ๆ รู้จักคนมากขึ้น แต่ละคนก็จะมาแชร์ความรู้กัน

อยากบอกอะไรกับน้องๆ

เมื่อขอให้ทิ้งท้ายกับน้องๆ หน่อย พี่แบงก์ตอบทันทีเลยว่าการวิเคราะห์ข้อมูล และ communicationเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ คือต้องยอมรับว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากในสังคมที่เรียกว่า data-driven community มีข้อเสียคือข่าวปลอมเยอะเราต้องฝึกทักษะในการวิเคราะห์สื่อ ต้องฝึกตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างที่สองคือเรายังขาดคนที่จะสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ หรือ science communicator เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ  นอกจากนี้พี่แบงก์ยังบอกว่าภาษาก็สำคัญการรู้ภาษาเยอะก็เท่ากับว่าเรามีแหล่งข้อมูลเยอะกว่าคนอื่น เพราะจะทำให้เพิ่ม pool source of information ได้

 

ขอบคุณพี่แบงก์ที่มาคุยกับเราและให้ข้อมูลน่าสนใจมากมาย

โดยกาชิฟ ธีร์จุฑาธรรม

นักศึกษาฝึกงาน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต