Home
>
Knowledge Sharing
TGS กับ 7 คำถามสุดฮิต ตอน 2

ในตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่องเงิน ๆทอง ๆ และการเดาใจกรรมการว่ามองหาผู้สมัครแบบไหน วันนี้เรามาเจาะลึกลงไปลงไปอีก

 

กลุ่มที่3:สาขาวิชา

 

เรียนข้ามสาขาได้มั๊ยจะค้นพบตัวเองยังไง เป็น 2 คำถามที่มาแรงมาก ๆ ในปีนี้

 

ได้ค่ะ เรียนข้ามสาขาได้ แต่ต้องมีที่มาที่ไป มีความเชื่อมโยง มีเหตุผลที่ดีว่าข้ามไปทำไมข้ามแล้วดียังไงทั้งกับตัวเรา สาขาวิชาชีพ และชุมชน นอกจากนี้ยังต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ข้ามแล้ว practical และ realisticมากน้อยแค่ไหน ทั้งในแง่ความต้องการของตลาดแรงงาน/สังคมและในแง่ศักยภาพของเรา เคยมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสาขาที่จะข้ามไปรึเปล่ามีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมั๊ย สรุปคือต้องมั่นใจว่าสาขานั้นจะเป็นที่ต้องการและเราจะประสบความสำเร็จในการเรียน

 

ส่วนเรื่องจะค้นพบตัวเองยังไงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เป็นการสังเกตตัวเองเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาเกือบทุกอย่าง เช่น วิชาที่เรียนกิจกรรมในห้องเรียน กิจกรรมจิตอาสา งานอดิเรก การพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ฯลฯเทคนิคก็ไม่เหมือนกัน บางคนใช้วิธีตัดสิ่งที่ไม่ชอบออกทีละอย่างบางคนสนใจอะไรก็มุ่งเน้นไปทางนั้นอย่างจริงจังหลายคนเมื่อทำงานไปสักระยะก็จะพอมองออกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร อยากทำอะไรต่อ พี่ ๆ ฟุลไบรท์แนะนำว่าให้หาตัวเองให้เจอก่อนแล้วค่อยสมัครทุนหรือสมัครเรียนเพราะเมื่อเจอสิ่งที่ใช่แล้วเราจะมีความชัดเจนทั้งในด้านแผนการเรียนและเป้าหมายในอนาคตกรรมการก็จะรู้สึกถึงความตั้งใจของเราและเมื่อเรียนแล้วเราก็จะมีความสุขกับสิ่งที่เราชอบ เพราะการเรียนใน graduate school นั้นค่อนข้างหนักเอาการอยู่ถ้าต้องเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบจะมีผลกระทบกับสภาพจิตใจอย่างมาก

 

แอบแทรกนิดนึงว่าทุนฟุลไบรท์เปิดรับสมัครทุกสาขา ยกเว้นสาขาที่ต้องมี clinical practice เพราะเป็นเงื่อนไขของวีซ่า J-1 ซึ่งไม่ใช่ว่าสาขาพวกหมอหมอฟัน สัตวแพทย์ พยาบาล จะสมัครไม่ได้เลย ได้นะถ้าไม่ต้องมีการปฏิบัติการทางคลินิก

 

กลุ่มที่4:เทคนิคการเขียน statement of purpose

 

หลายคนถามมาว่าจะเขียนSP ยังไงให้ได้ใจกรรมการ ทำยังไงให้เนื้อหาให้ครบภายใน 400 คำ

 

เรื่องนี้ พี่ ๆจากทุกสาขาตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า จงเข้าใจตัวเองก่อน รู้จักตัวเองว่าชอบอะไร มี passion กับเรื่องอะไร อยากเรียนอะไร และจะกลับมาทำอะไร จากนั้นก็เรียบเรียงให้เห็นความสอดคล้องกันจากอดีตปัจจุบัน และอนาคตในเรื่องแผนการเรียนรวมทั้งเป้าหมายของเรา โดยสามารถสอดแทรกประสบการณ์ในการทำกิจกรรมหรือการทำงานเข้าไป ซึ่งจะทำให้ SP มีความชัดเจนเห็นโจทย์ที่เราตั้งไว้ให้ตัวเองพร้อมแผนในการตอบโจทย์นั้น ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีความ real เพราะกรรมการที่อ่านจะรู้สึกได้

 

และแค่นั้นอาจจะยังไม่พอเรายังต้องทำการบ้านเพิ่มเติมด้วย เมื่อรู้แล้วว่าจะไปเรียนอะไรก็ถึงเวลาหาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาวิชานั้น ๆ ที่เปิดสอนในอเมริกาหรือถ้ามีมหาวิทยาลัยในใจก็เข้าไปดูว่าสาขานั้นเขาเน้นอะไร มี research หรือ project เด่น ๆ เกี่ยวกับอะไร มีวิชาเลือกอะไรตอบโจทย์เรามากน้อยแค่ไหนทั้งนี้ก็เพื่อเอาข้อมูลมาอธิบายว่าทำไมเราต้องไปเรียนสาขานี้ที่อเมริกาเท่านั้น

 

นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคในการเขียนด้วยเพื่อให้เนื้อหาไหลลื่นและสอดคล้องกันภายใน 400 คำ ดังนั้นก่อนที่จะลงมือเขียนเราควรทำoutlineเพื่อดูว่าในแต่ละ paragraph จะมี mainmessage อะไร และแต่ละ paragraph จะเชื่อมโยงกันยังไงพอเขียนออกมาแล้วก็อ่านทวนและปรับไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะพอใจและอย่าลืมว่ากรรมการต้องอ่าน SP หลายฉบับมากในแต่ละครั้ง แล้วถ้าทุกคนเขียนดีเหมือนกันหมดอะไรจะทำให้ SP ของเราเด่นกว่าคนอื่นได้ จะเกริ่นนำให้น่าสนใจชวนอ่านต่อได้ยังไงจะใส่อะไรที่ทำให้กรรมการอ่านแล้วจำเราได้ไม่ลืมบ้าง ซึ่งตรงนี้แต่ละคนก็จะมีแนวต่างและเทคนิคที่แตกต่างกันไป

 

ถ้ายังไงลองย้อนไปอ่านซีรีส์ Tips forApplication เรื่อง SP และ SOP อีกทีนะ

Note: ฟุลไบรท์มีจัดอบรมเกี่ยวกับการสมัครทุนและการเรียนต่อต่างประเทศเป็นระยะหรือตามความต้องการของสถาบันในเครือข่าย โดยมีหัวข้ออบรม เช่น การเขียน statementof purpose (รวมถึงเรื่อง plagiarism) การสอบสัมภาษณ์และ cross cultures ติดตามรายข้อมูลข่าวสารได้ที่เฟสบุ๊คเพจ